สิ่งหนึ่งที่คู่มากับ จังหวัดสมุทรสงคราม ก็คือ แม่น้ำลำคลอง น้อยใหญ่ ซึ่งมีอยู่ มากมาย ทำให้วิถีการดำเนินชีวิต ของ ชาวบ้าน ผูกพัน กับ แม่น้ำ ลำคลอง เรื่อยมา ทั้งการสัญจร ไปมา หาสู่กัน การประกอบ อาชีพต่าง ๆ การซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า และ สิ่งหนึ่งที่ สะท้อนภาพชุมชนริมน้ำ ได้ชัดเจน

คือ ตลาดน้ำ ที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา ในสมัยนั้นชาวบ้าน จาก สมุทรสงคราม จะพายเรือนำพืชผัก ผลไม้ กุ้ง หอย ปู ปลา กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาเค็ม หอม กระเทียม พริกสด พริกแห้ง ล่องเข้าไปขาย ต่อเนื่องถึง สมัยธนบุรี และ รัตนโกสินทร์ ก่อน ที่ตลาดน้ำ จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปราว 60 ปีที่แล้ว

เมื่อการสัญจร ทางบกสะดวกขึ้น ภาพความคึกคักจอแจ ของผู้คน และ เรือบรรทุกพืชผล สินค้า แน่นขนัดใน ลำคลอง เสียงเจรจาซื้อขาย พูดคุย ทักทายกัน ทั่วท้องน้ำ นับวันจะหาดู ได้ยากยิ่ง แต่ความมีชีวิตชีวาเหล่านี้ ยังคงมีอยู่ที่ "ตลาดน้ำท่าคา" เดิมตลาดน้ำ จะมีเฉพาะในวัน ขึ้น หรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ ตั้งแต่ เวลาประมาณ 06.00- 12.00 น. แต่ปัจจุบัน มีในวันเสาร์ และ วันอาทิตย์ด้วย

ป้ายตลาดน้ำพืชผัก ขนม ของกินของใช้

บริเวณ ตลาดน้ำท่าคา บรรยากาศสองฝั่ง น้ำร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว และ สวนผลไม้ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ชาวบ้าน จะเริ่ม ทยอย พายเรือ ออกมาจากสวน บ้างก็มาจาก ละแวกใกล้เคียง บรรทุกผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ ตลาดน้ำ จึงเป็นศูนย์กลาง การพบปะของคน ในชุมชน และ นักท่องเที่ยวจากภายนอก

บริเวณที่ติดตลาด มีทางเดินปูนริมน้ำ และสะพานข้ามคลอง ทำให้ นักท่องเที่ยว สามารถ เดินชมตลาดน้ำได้อย่างทั่วถึง สินค้ายอดนิยม ของตลาดน้ำท่าคา จะเป็นสินค้าที่ผลิต มาจาก มะพร้าว ได้แก่ น้ำมะพร้าวสด, น้ำตาลสด, น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บ และ เนื้อมะพร้าวตากแห้ง

อาชีพขึ้นตาลและทำน้ำตาลมะพร้าว เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ และยังคงเป็น อยู่ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากสวนมะพร้าว มากมายระหว่างทาง

บริเวณด้านหน้าทางเข้าตลาดน้ำ มีศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว ของ กลุ่ม แม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา มีสินค้า และผลิตภัณฑ์ ในชุมชนจำหน่าย มีการสาธิต การเคี่ยวตาล หยอดตาล และ บริการ พาล่องเรือเที่ยวสวน

น้ำตาลมะพร้าว

กว่าจะมาเป็น “น้ำตาลมะพร้าว” คนขึ้นตาล จะเริ่มเก็บน้ำตาล มะพร้าว ตั้งแต่ตี 5 การขึ้นตาลจะขึ้นวันละ 2 รอบ รอบเช้าเรียกว่า “ตาลเช้า” รอบบ่ายเรียก “ตาลเย็น” ตาลเช้าจะทำงานหนัก และนานกว่าตาลเย็น เพราะ รอบเช้า จะมีน้ำตาลจากรอบเย็น ที่แขวนทิ้งไว้ ข้ามคืน ทำให้ได้น้ำตาลมากกว่า

พอขึ้นตาลเช้าเสร็จแล้วจะนำน้ำตาลที่ได้ มาเทรวมกัน โดยใช้ผ้าขาวบาง หรือ กระชอน กรองเศษพะยอม ที่ชาวสวนใส่ไว้เพื่อไม่ให้น้ำตาลบูด เมื่อเริ่มเคี่ยวตอนที่น้ำตาล ยังไม่เดือด จะมีฟองมากก็จะนำกระชอน มาตักฟองออก เมื่อน้ำตาลเริ่มเดือดฟูขึ้น จะใช้โค หรือ กะว้งครอบลงไปในกระทะ กันไม่ให้น้ำตาล เดือด ล้นออกอกกระทะ

น้ำตาลจะเริ่มเข้มขึ้นฟองจะเหนียวและ เป็นสีเหลือง เมื่อน้ำตาลเดือดได้ที่คือ เนื้อข้นมากๆ ก็จะนำกระทะหมุนไป หมุนมา เพื่อไม่ให้น้ำตาลไหม้ จนเนื้อข้นหมดฟอง ก็ ยกลงวางบนพื้น แล้วกระทุ้งน้ำตาลไปมาเพื่อให้เนื้อของ น้ำตาลละเอียด และ เย็นตัวลง หลังจากนั้น ก็นำน้ำตาลไปหยอดลง ในภาชนะ หรือตักชั่ง เป็นกิโลกรัม ส่งออกจำหน่าย เตาเคี่ยวตาล ในสมัยก่อน จะเป็นเตาเดี่ยว เคี่ยวได้ทีละกระทะ เรียกว่า “เตาโดด” ต่อมาเริ่มพัฒนามาเป็น “เตาดุน” มี 2 กระทะ แล้วต่อช่องไฟให้ถึงกัน จนพัฒนามาเป็น “เตาปล่อง” ที่สามารถเคี่ยวได้หลายกระทะ ตามความมากน้อย ของน้ำตาล และทำให้ประหยัดฟืนกว่าเตาแบบเดิม

  • การเดินทาง ทางรถยนต์ จากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหลวง หมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) ทางเดียวกับไปอำเภอ ดำเนินสะดวก ประมาณ 10 กม. หรือเลยจากทางแยกเข้า อ.อัมพวา ไปประมาณ 4 กม. มีทางแยก อยู่ขวามือ มีป้ายบอกตลาดน้ำท่าคา วิ่งเข้าไปประมาณ 5 กม. มีป้ายบอก ตลอดทาง
  • การเดินทาง ด้วยรถประจำทาง จากตัวจังหวัด ขึ้นรถที่คิวหน้า ธนาคารทหารไทย ปลายทาง ตลาดน้ำท่าคา

ชาวบ้านจะเริ่มทยอยพายเรือออกมาจากสวน