อุทยาน เขาสามร้อยยอด
ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพ เสื่อผืนหมอนใบ รอนแรม เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย ข้ามน้ำ ข้ามฟ้า ข้ามทะเลจากเมืองจีน ไปหาบ้านใหม่ เมืองใหม่ เพื่อตั้งหลักปักฐาน ทำมาหากิน ยังดินแดน ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิมนั้น ว่ากันว่า เริ่มมีขึ้นราวร้อยปีเศษ ประมาณรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การเดินทางดังว่า จะใช้วิธีโล้สำเภา ฝ่าคลื่นลม พายุ ฝนฟ้าคะนอง พวกที่รอด ปากเหยี่ยวปากกา มาจนถึงสยามประเทศ บางส่วน ก็ขึ้นฝั่งที่เมืองบางกอกที่มีญาติพี่น้อง ตั้งหลักปักฐานอยู่แต่เดิม บางส่วนที่เพิ่ง มาใหม่ หรือไม่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ ก็พยายามจะจองสถานที่ทำมาหากิน ที่มีทำเลติดแม่น้ำเป็นหลัก
ชาวจีนรุ่นปู่ย่า ตาทวดที่อพยพมาอาศัย ที่เมืองแปดริ้ว ที่ไม่มีทุนรอนมากมาย จึงเช่าห้องแถวไม้ที่ปลูกอยู่ตามชุมชนต่างๆ ที่ใดมีคนมาซื้อมาขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากัน หนาแน่น ก็จะค่อยๆ ก่อตัวเป็นตลาด ของชุมชนเล็กๆ เมื่อการค้าขาย และ ผู้คนมาพบปะกันมากขึ้น ชุมชนขยายใหญ่ ก็จะเกิด ตลาด ที่เป็นรูปธรรม เช่น ตลาดร้อยปี ที่ชาวแปดริ้วเรียกกันทั่วไปว่า ตลาดบ้านใหม่
ตลาดบ้านใหม่ มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ กว่าตลาดสามชุก ตลาดคลองสวน เล่ากันว่า บริเวณนี้เป็นกึ่งกลางของตลาด หลักในแปดริ้ว คือ ตลาดทรัพย์สิน กับชาวสวนชาวไร่ ที่พายเรือนำพืชผัก ผลไม้ หรือ สินค้าต่างๆ มาส่งขายให้บรรดาพ่อค้า คนกลาง ลักษณะของตลาด เป็นโรงเรือนไม้ มุงหลังคาสังกะสี มีความสูงและรูปแบบ เป็น เอกลักษณ์เฉพาะตัว มีทางเดินกว้าง 7-8 เมตร
สองฟากเป็นห้องแถวเช่าตลอดแนว ยาวโค้งเข้าหาแม่น้ำบางปะกง ข้ามคลองเล็กๆ มีสะพานไม้เชื่อม ความยาว ของตลาดประมาณ 300 เมตร บริเวณ หัวตลาดเมื่อแรกเริ่ม ด้านซ้ายมือเป็น ร้านกาแฟและน้ำแข็งใส ด้านขวามือก็เป็น ร้านกาแฟและ ขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ตอนเช้า จะมีชาวสวนนำผลหมาก รากไม้ ผักสด ชนิดต่างๆมาวางขายตลอดแนว 2 ทางเดิน ส่วนห้องแถวที่เรียงราย 2 ฟาก บางร้าน ก็ขายอาหาร ขายข้าวแกง ขายขนมหวาน ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดหรือสิ่งของ เครื่องใช้ อันจำเป็น รวมทั้งอุปกรณ์ที่ชาวสวน ชาวไร่ หาซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน
บริเวณกลางตลาด เมื่อสมัยแรกมีศาลเจ้าจีน เมื่อถึงวาระ วันเกิดศาลเจ้า ที่เป็นเทศกาล สำคัญ ก็จะมีงิ้วเป็นมหรสพสมโภชน์ ในตลาดนี้คนที่อยู่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เป็นชาวจีนโพ้นทะเลล้วนๆ ส่วนคนไทย ที่มีฐานะ ด้อยกว่าจะอยู่บริเวณท้ายตลาด เป็นห้องแถว ไม้แบ่งเช่าชั้นเดียว หลังคามุงสังกะสี อาชีพหลักของคนไทย ที่อาศัยอยู่หลังตลาดคือ รับจ้างนาบพลู เป็นการนำใบพลูสด มานาบกับกระทะเหล็ก ที่อังไฟเตาถ่านจนร้อน เมื่อใบพลูแห้งแล้ว จะเก็บรักษาใส่ไว้ในไหหิน ปิดผนึก เพื่อเอาไว้กินยามใบพลูมีราคาแพง หรือไม่ใช่หน้าพลู
ในอดีต ตลาดบ้านใหม่นี้ในแต่ละวัน จะคึกคักไปด้วยผู้คนที่พายเรือมา จากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะจากสวน ฝั่งตรงข้ามตลาด บางคนที่มีกิจธุระ ต้องเข้าเมืองก็จะต่อรถเจ๊ก รถลากที่มี 2 ล้อ และมีประทุน กับเบาะรองนั่ง คนลากจะเป็น คนจีนใส่กางเกงขาก๊วยกับเสื้อกุยเฮง ลากจากตลาดบ้านใหม่ไปยังในตัวเมือง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
ความเจริญรุ่งเรือง มาลดน้อยถอยลงไป เมื่อถนนหนทางและ การไปมาหาสู่สะดวก สบายขึ้น รถยนต์และรถขนส่ง มีบทบาทมากกว่า เรือพาย เรือแจว และเรือหางยาว ทำให้การค้าขาย ในตลาดซบเซา กอร์ปกับชาวจีนรุ่นเก่าล้มหาย ตายจาก ลูกหลานไม่สืบทอดอาชีพเดิม บ้างก็เซ้งห้องเช่า ไปอาศัยและ ทำมาหากินที่อื่น ส่วนคนรุ่นถัดมา ก็อพยพเข้ากรุงเทพฯที่อยู่ห่างจากแปดริ้วแค่ 80 กิโลเมตร
ตลาดบ้านใหม่นี้หมดบทบาทลงเมื่อราวๆปี 2530 ผู้คนเงียบเหงา ห้องเช่าบางส่วน ถูกทิ้งร้าง ไม่มีชีวิตชีวา ผู้คนไม่ให้ความสำคัญ เหมือนแต่ก่อน จน เด็กรุ่นใหม่แถบจะไม่รู้จักตลาดบ้านใหม่แห่งนี้ ด้วยซ้ำไป จนเมื่อราว 5 ปีที่ผ่านมา หรือราว พ.ศ.2547 ตัวแทน ชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่ ในรุ่นปัจจุบันได้รวมตัวกัน ปลุกฟื้น ตลาดแห่งนี้ ขึ้นมาใหม่ ในนาม... “ตลาดร้อยปีบ้านใหม่เมืองแปดริ้ว”
การเดินทางไปตลาดบ้านใหม่ ไม่ยาก ถ้ามีรถส่วนตัว จะใช้เส้นทาง มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา หรือ บางนา-ตราด เลี้ยวซ้ายเข้ามอเตอร์เวย์ ตรงโรงงานสหยูเนี่ยน ตรงไปฉะเชิงเทรา แต่ถ้าไม่มีรถส่วนตัว จะเลือกนั่งรถไฟ หรือรถโดยสารประจำทาง ไปลงที่ตัวเมือง ฉะเชิงเทรา จากนั้นนั่งรถ 2 แถว สายรอบเมืองไปยังตลาดได้เลย